19 ก.ค.2566 จากกรณี ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับวินิจฉัย โดยให้นายพิธาผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้เข้ากล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมีระเบียบวาระการประชุมเรื่องที่เสนอใหม่ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลังทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้ลาเพื่อนส.ส.พรรคก้าวไกล และเดินออกจากห้องประชุมทันที.
'เรืองไกร' ไล่ 'พิธา' ไปแก้ข้อกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ จี้เลิกชิงเก้าอี้นายกฯ เพราะชื่อตกแล้ว
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้ร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล คุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเด็นเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัทไอทีวี จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์ ภายหลังทราบมติศาลรัฐธรรมนูญ กรณีสั่งให้นายพิธาหยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส. ว่า จากกรณีของนายพิธาตนเองยืนยันในคำร้องและข้อเท็จจริงมาโดยตลอด และเมื่อ กกต. มีคำร้องไปศาลก็ต้องรับ ส่วนที่ศาลสั่งก็เป็นเรื่องของดุลพินิจ ซึ่งศาลเห็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับ กกต.นายเรืองไกร กล่าวว่า ที่ยังไม่ทราบอีกเรื่องหนึ่งคือ ศาลจะต้องให้นายพิธาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เหมือนกับคดีที่มีการร้อง ซึ่งโดยหลักศาลให้ชี้แจงครั้งที่หนึ่งและสอง ดังนั้นเมื่อคดีนี้มาถึงวันนี้ ที่ประชุมทราบผลคำสั่งศาล นายพิธาก็ต้องเดินออกอยู่ไม่ได้ ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเทียบกรณีนายพิธาที่ศาลสั่งหยุดปฎิบัติหน้าที่กับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในอดีตต่างกันอย่างไร นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีนายธนาธรนั้นเป็นบริษัทครอบครัว พยานหลักฐานยังอาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้ แต่กรณีของนายพิธาเป็นกรณีบริษัทมหาชน
เมื่อถามว่ากระบวนการเสนอชื่อนายพิธาเมื่อเทียบกับกรณีของนายธนาธร ยังทำได้หรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า การเสนอชื่อนายพิธาดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ท้วงว่าไม่ควรเสนอได้ เพราะให้อำนาจพิจารณาตาม ม.88 และ 89 เป็นอำนาจของสภาที่ต้องพิจารณาว่าเมื่อมีการเสนอคำร้อง และ กกต. มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ก็ควรจะเห็นแล้วว่าเขาเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ และชี้ให้เห็นแล้วว่าไม่ควรนำมาเข้าสู่กระบวนการของสภาได้