You are currently viewing จังหวะ ‘พิธา’ ออกจากห้องประชุมรัฐสภา หลังศาลรธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สส.

จังหวะ ‘พิธา’ ออกจากห้องประชุมรัฐสภา หลังศาลรธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สส.

19 ก.ค.2566 จากกรณี ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับวินิจฉัย โดยให้นายพิธาผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้เข้ากล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมีระเบียบวาระการประชุมเรื่องที่เสนอใหม่ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลังทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้ลาเพื่อนส.ส.พรรคก้าวไกล และเดินออกจากห้องประชุมทันที.

'เรืองไกร' ไล่ 'พิธา' ไปแก้ข้อกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ จี้เลิกชิงเก้าอี้นายกฯ เพราะชื่อตกแล้ว

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้ร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล คุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเด็นเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัทไอทีวี จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์ ภายหลังทราบมติศาลรัฐธรรมนูญ กรณีสั่งให้นายพิธาหยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส. ว่า จากกรณีของนายพิธาตนเองยืนยันในคำร้องและข้อเท็จจริงมาโดยตลอด และเมื่อ กกต. มีคำร้องไปศาลก็ต้องรับ ส่วนที่ศาลสั่งก็เป็นเรื่องของดุลพินิจ ซึ่งศาลเห็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับ กกต.นายเรืองไกร กล่าวว่า ที่ยังไม่ทราบอีกเรื่องหนึ่งคือ ศาลจะต้องให้นายพิธาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เหมือนกับคดีที่มีการร้อง ซึ่งโดยหลักศาลให้ชี้แจงครั้งที่หนึ่งและสอง ดังนั้นเมื่อคดีนี้มาถึงวันนี้ ที่ประชุมทราบผลคำสั่งศาล นายพิธาก็ต้องเดินออกอยู่ไม่ได้ ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเทียบกรณีนายพิธาที่ศาลสั่งหยุดปฎิบัติหน้าที่กับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในอดีตต่างกันอย่างไร นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีนายธนาธรนั้นเป็นบริษัทครอบครัว พยานหลักฐานยังอาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้ แต่กรณีของนายพิธาเป็นกรณีบริษัทมหาชน

เมื่อถามว่ากระบวนการเสนอชื่อนายพิธาเมื่อเทียบกับกรณีของนายธนาธร ยังทำได้หรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า การเสนอชื่อนายพิธาดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ท้วงว่าไม่ควรเสนอได้ เพราะให้อำนาจพิจารณาตาม ม.88 และ 89 เป็นอำนาจของสภาที่ต้องพิจารณาว่าเมื่อมีการเสนอคำร้อง และ กกต. มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ก็ควรจะเห็นแล้วว่าเขาเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ และชี้ให้เห็นแล้วว่าไม่ควรนำมาเข้าสู่กระบวนการของสภาได้

Leave a Reply